วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ท้องทุ่งนา

ท้องทุ่งนาอันกว้างใหญ่ไพศาล
          สำหรับใครที่ต้องจากบ้านมาใช้ชีวิตวัยเรียนหรือทำงานในเมืองหลวง คงจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึก "คิดถึงบ้าน" โดยเฉพาะดินแดนที่ถูกเรียกว่า "บ้านนอก" ที่ซึ่งแม้จะไม่เจริญไปด้วยเทคโนโลยี สัญญาณ Wi-Fi หรือแม้กระทั่งไฟฟ้าที่เข้าไม่ถึง แต่ในที่เหล่านั้นเรามักจะพบกับความสุขใจที่แท้จริง...ความสุขใจที่เป็นความสุขภายในโดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี การได้เห็นท้องทุ่งสีเขียวอยู่รอบตัว พร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ได้อย่างเต็มปอด ก็นับเป็นความสุขเล็ก ๆ ที่หาได้ง่าย ๆ ในบ้านนอกเพราะข้าพเจ้าเกิดและเติบโตมาท่ามกลางท้องไร่ท้องนา การได้เห็นภาพทุ่งนาเขียว ๆ มันทำให้หัวใจเบิกบานเสียเหลือเกิน อีสานบ้านข้าพเจ้านั้นทำนาปีครับ ต้องอาศัยน้ำฝน ปีไหนฝนดีก็มีเฮ ปีไหนฟ้าฝนแปรปรวนก็ทนทุกข์กันถ้วนหน้า ทุ่งนาเหล่านี้แหละครับที่เป็นตัวผลักดันให้ข้าพเจ้าขวนขวายตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ตอนเป็นเด็ก ข้าพเจ้าออกไปทำนากับพ่อแม่แดดร้อนมาก ก้มทำนาปวดหลัง กว่าจะดำนาเสร็จ ปวดเมื่อยมากๆเลยตั้งใจว่าอยากช่วยชาวนาให้มีความเป็นอยู่ที่ดีบ้าง  พอข้าพเจ้าได้อ่านบทกลอน
           ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ว่า
           "เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน"
           ข้าพเจ้าเข้าใจดีเลยว่ามันจริงแค่ไหน กว่าจะได้ข้าวมาเนี่ยเสียเหงื่อเสียพลังงานไปเยอะมากขนาดไหน ทุกวันนี้พวกเรามีข้าวกินทุกมื้อได้ก็เพราะว่าชาวนานี้แหละ เราต้องขอขอบคุณชาวนาที่ทำนาปลูกข้าวให้พวกเราได้กินกันอย่างอิ่มหนำสำราญ  ข้าพเจ้าคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ที่ตอบแทนบุญคุณชาวนา คือ การกินข้าวให้หมดเกลี้ยงจาน ไม่กินทิ้ง กินขว้าง เป็นการสำนึกในการที่ชาวนาทำนาปลูกข้าวอย่างเหนื่อยล้า เพื่อให้เรามีข้าวกินอย่างสมบูรณ์พูลสุขได้เป็นอย่างดี

            ดังนั้น การทำนา ปลูกข้าวให้คนกิน จึงเป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ ที่ทำให้เรานั้นมีข้าวกินกันอย่างอุดมสมบูรณ์ และยังมีกินมีใช้ มีเงินเรียนหนังสือ ส่งลูกได้เรียนสูงๆ มีการศึกษาที่เหมือนๆกับคนอื่นได้เป็นอย่างดี จึงต้องให้ความสำคัญต่อการทำนาและปลูกข้าวเป็นอย่างยิ่ง

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แสงสว่าง

แสงสว่าง
 
              การเริ่มต้นของวันใหม่...กับหัวใจดวงเดิมเมื่อวานเราอาจพบเจอสิ่งไม่ดี ไม่ชอบ ไม่สบายใจ แต่ใครจะรู้ว่า...วันนี้เราอาจพบเจอสิ่งดีดีบางก็ได้ในบางครั้ง...สิ่งที่เลือนลางเป็นเงาซ่อนเร้นอยู่ในใจเรา อาจเลือนหายไปกับกาลเวลา....เพราะวันเวลาที่ผ่าน...อาจนำเราไปสู่สิ่งใหม่ๆสิ่งนั้นอาจมาแทนที่ความทรงจำเก่าๆของเรา...เวลาที่ผ่านไป บางทีไม่ได้ทำให้เราลืม หรือลืมช้าเพราะเรามัวแต่ให้ความใส่ใจมันมากไปลองหาอะไรทำคั่นเวลาไป เราก็จะลืมมันได้อย่างน้อยก็อยู่ที่ใจเรานะว่าอยากลืม หรืออยากจำ ในสิ่งที่เราได้กระทำลงไป ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เราทำลงไปนั้นจะประสบผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร พรุ่งนี้ คือวันใหม่เสมอ เคยมีคนบอกว่าจะคิดมากทำไมในเมื่อ พรุ่งนี้ก็เช้าแล้ว
ปราโมทย์ โชติช่วง ณ ราชบุรี


วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ท้องทุ่งนา

ท้องทุ่งนา
            ท้องทุ่งนาบ้านเรา ที่มีแต่ความเขียวขจี มีอากาศที่บริสุทธิ์  กลิ่นอายของธรรมชาติที่ยังคงเอาไว้ด้วยความงดงามตามธรรมชาติ ทุ่งนาที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ในฤดูแห่งการทำนา  ความเคยชินต่อการตรากตรำทำนาด้วยความลำบาก ปลูกข้าวให้คนกิน เป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจอย่างแท้จริง
           ทุ่งนา นาข้าวที่ได้ทำการปลักดำ ด้วยความชำนาญทำให้ต้นข้าวนั้นเจริญเติบโตทุกวันทุกคืน ต้นข้าวที่ปลูกลงไปในนาที่มีน้ำพอดี ด้วยความเคยชิน และด้วยความชำนาญในการทำนา ชาวนาจะรู้ดีว่าในการทำนานั้นจะต้องทำการกักน้ำเอาไว้ประมาณเท่าใด และเป็นเวลาใดที่ต้องเตรียมไถนาเอาไว้ เพื่อรอน้ำฝนที่ตกลงมาตามฤดูกาล ทำให้มีน้ำในการทำนาได้อย่างเต็มที่
           ทุ่งนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เป็นคำพูดที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี และเป็นคำที่ชาวนาฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความหมายเป็นอย่างดี  ชาวนาทำนาด้วยความเหน็ดเหนื่อย แต่นายทุนที่จ้องเอาเปรียบนั้นก็ยังจะหาช่องทางในการเอาเปรียบชาวนาตามความเคยชิน และคิดว่าชาวนานั้นไม่มีช่องทางเลือกอื่น ก็จำเป็นต้องพึ่งพ่อค้า หรือนายทุนอยู่ดี เพราะว่าชาวนานั้นไม่มีต้นทุนชีวิตที่ดี ทุนรอนที่ใช้สำรองนั้นก็ไม่พอเพียงสักเท่าไร จึงไม่มีทางเลือกอื่น จำเป็นต้องพึ่งนายทุนอย่างไม่มีทางเลือกอื่นได้มากมายนัก
           ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญต่อการทำนา ต่ออาชีพทำนา ที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ให้สามารถดำรงอยู่ได้ และสามารถมีการดำรงชีวิตที่ดีมากขึ้นต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชาวนานั้นควรจะได้สิทธิ และมีสวัสดิการคุ้มครองต่ออาชีพอย่างสมศักดิ์ศรี  เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป
 
ปราโมทย์ โชติช่วง ณ ราชบุรี
         

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ศึกษาและสะสม

ศึกษาและสะสม
        วันนึงโอกาสผมก็มาถึง ผมได้เช่าพระสมเด็จที่ชำรุดก่อนเพื่อนำมาศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จวัดระฆัง บางขุนพรหม หรือวัดเกศไชโย  ซึ่งสิ่งที่ผมค้นพบสำหรับพระสมเด็จ มีดังนี้
       1. พระสมเด็จไม่ได้เล่นยากอย่างที่คิด เพียงแต่หาองค์ที่ดูง่าย ๆ ไว้ก่อน (บางคนคิดว่าเล่นยาก ผมคิดว่าอาจจะเนื่องมาจากจำนวนพระที่มีให้เห็น ให้ศึกษาน้อยกว่าพระชนิดอื่น ถ้ามีโอกาศได้เห็นของแท้มาก ๆ ก็จะศึกษาได้ง่าย แต่จะเห็นได้อย่างไรเพราะพระแพงมาก คนมีอยู่ก็หวงมากมาย และไม่ยอมให้ชมง่าย ๆ )
      2. พระสมเด็จปลอมยาก ผมถามผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน พูดเหมือนกันว่าถ้าเข้าใจสมเด็จแล้วไม่ยาก เพราะว่าพิมพ์พระที่ทำให้เหมือนมีมิติที่ยาก เนื้อหา ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ซึ่งของปลอมก็มีอายุไม่ถึง เรียกว่าธรรมชาติไม่ได้
      3. พุทธคุณสุดยอด อันนี้แล้วแต่ดุลพินิจแต่ละท่านนะครับเพราะว่าไม่เหมือนกัน แต่ละแนวความคิดกันไป
     4. ความนิยมซึ่งสิ่งที่ผมพบคือพระสมเด็จไม่เคยมีวันตก พระสมเด็จแต่ละองค์ แทบจะเป็นตัววัดดัชนีวงการพระได้  พระสมเด็จราคาตกอย่างอื่นๆก็คงจะราคาตกลงอย่างมากๆ หรือไม่ว่าพระใดที่แพงขึ้นก็จะไม่มีทางที่จะแพงกว่าพระสมเด็จไปได้
เคยมีคนพูดว่า "จะเป็นเซียนพระได้เต็มตัวได้อย่างไรถ้าไม่มีพระสมเด็จ" เพื่อน ๆ คิดว่าอย่างไรกันบ้างครับ       มีคนถามผมว่าจะศึกษาอย่างไร ผมจะเล่าจากประสบการณ์ในการศึกษามาบ้างพอสมควรของผมนะครับ
       1. เริ่มศึกษาจากพระเก่าราคาไม่แพงก่อน มีให้เลือกหลายวัด อาทิ พระครูสังฆ์ เป็นต้น
       2. ศึกษาตำราต่าง ๆ ให้มาก ศึกษาวิธีการสร้าง เนื้อหามวลสาร การตัดขอบ ลักษณะเนื้อพระ
       3. ถ้าอยากศึกษาสมเด็จพยายามหาสมเด็จที่ดูง่าย ๆ แนะนำคือ บางขุนพรหม กรุใหม่ เพราะมีทั้ง เนื้อหา คราบกรุให้ได้ศึกษาด้วย
      4. พยายามเช่าพระสภาพเดิม ๆ ที่สุด เนื่องจากพระที่ผ่านการเปลี่ยนสภาพ อาทิ การใช้สึก การล้าง จะทำให้พระดูยาก พยายามจำพระที่ดูง่ายไว้เป็นพื้นฐานจะได้ไม่สับสน
     5. พยายามระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากพระเนื้อผงสามารถแตกหักชำรุดได้ อย่าให้โดนน้ำโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่เหมือนพระโลหะทั่วไป
       ลองค่อย ๆ ศึกษาและสะสมกันไปเรื่อยๆนะครับดูแล้วศึกษาแล้ว ส่องแล้วเพื่อน ๆ จะสนุกและชอบเหมือนผมครับท่าน
ปราโมทย์ โชติช่วง ณ ราชบุรี   

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กระท่อมในฝัน วิมานของเรา

กระท่อมในฝัน วิมานของเรา
            บ้านของเรา วิมานของเรา อากาศที่บริสุทธิ์ที่เราสัมผัสได้ ลมหายใจที่สะดวกในการหายใจเข้าออก สูดแต่อากาศที่ไร้มลพิษเข้าไปในปอด ทำให้เรานั้นมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จะเห็นได้ว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัดนั้นมีสุข ภาพ พลานามัยที่แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายๆ
            บ้านที่เป็นธรรมชาตินั้น ในปัจจุบันหาสัมผัสได้ยากขึ้น แทบจะไม่มีให้เห็นเลยกับธรรมชาติที่สมบูรณ์ และวิถีชีวิตของชาวชนบท ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่กันอย่างครอบครัวใหญ่ๆที่มีความอบอุ่น ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ลำคลอง ที่ใสสะอาด ปราศจากสิ่งเน่าเหม็นของขยะ  ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ซึ่งหากินได้จากหน้าบ้านที่อยู่ใกล้ๆ แค่ออกไปใช้ แห สุ่ม ก็ได้ปลามากินอย่างมากมาย
            วิถีชีวิตของชาวบ้านในต่างจังหวัด มีความสุขกาย สบายใจ ไม่ต้องดิ้นรน แสวงหา แก่งแย่ง ชิงดี ชิงเด่นกับใครๆทั้งสิ้น  มีเพื่อนบ้านที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แบ่งปันน้ำใจไมตรีให้แก่กัน ด้วยความจริงใจและมีมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน ให้ความรักและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความเอื้ออาทร มีผักก็นำไปแลกปลา ใครมีปลานำไปแลกข้าว ใครมีข้าว นำไปแลกไข่ ฯลฯ เป็นวิถีชีวิตที่สงบสุข ไม่ต้องโหยหาความสำเร็จ ไม่ต้องการยศฐาบรรดาศักดิ์ ไม่ต้องการความยิ่งใหญ่ที่เหนือใครๆ ไม่เจ็บไม่ป่วย มีแรงทำงานก็มีความสุขแล้ว
             บ้าน คือวิมานที่อยู่บนดิน บ้านที่อบอุ่น อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ แม่ ลูก ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ยึดติดกับความฟุ้งเฟ้อมากมายนัก พอใจในสิ่งที่ตนมีและหามาได้ด้วยความสุจริต เป็นผู้นำครอบครัวที่เข้าใจและมีความรับผิดชอบ เข้าใจซึ่งกันและกัน อบรมสั่งสอนบุตรให้เป็นคนดี มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี สำนึกในบุญคุณของแผ่นดิน แผ่นดินที่เป็นแผ่นดินเกิด ให้เรามีชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข และมีสวัสดิภาพในการดำรงอยู่ที่ดีต่อไป นานเท่านานเทอญ
 ปราโมทย์ โชติช่วง ณ ราชบุรี
            
     

อยู่อย่างนี้แหละ

อยู่อย่างนี้แหละ
              
            ความเป็นอยู่ของคน ที่ต้องการความสุขสบาย ปลอดภัย สะดวกกาย สบายใจ ที่คนเรานั้นต้องการอย่างแท้จริง บ้านที่อยู่อาศัยที่คนเราต้องการมากที่สุด ที่ที่เรานั้นได้พักผ่อน What is the meaning of "home"  ?   บ้านหมายถึงตัววัตถุ อสังหาริมทรัพย์อันตั้งอยู่บนพื้นดิน  ที่ทุกคนไฝ่ฝันหาที่จะได้มันมาอย่างน้อย ก็สักหนึ่งครั้งในชีวิตหนึ่ง   อาจมีเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งตามแต่รสนิยมของแต่ละคน  หรือ ....บ้านคือพื้นที่ของการใช้ชีวิตร่วมกันของสิ่งอันเกี่ยวข้อง  อาจจะเป็น พ่อ แม่  ลูก  หลาน  สมมี ภรรยา  สัตว์เลี้ยง  ต้นไม้  นก แมลง  กบเขียด  แสงแดด  สายลม  ฯลฯ
        บ้านมันมีชีวิตของมันเอง  อันขึ้นอยู่กับชีวิตทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกันอยู่ในบ้านหลังนั้น   บ้านที่ไม่มีคนอยู่เลยเราเรียกกันว่า "บ้านร้าง"  ซึ่งนั่นคือบ้านที่ดูเหมือนบ้านที่ไม่มีชีวิตชีวา พื้นที่ชีวิตสำหรับบ้านแต่ละหลัง  ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านนั้นๆ บ้างคนใช้บ้านเพียงแค่เอาไว้นอน  เช้าก็ออกจากบ้านไป   กลับเข้าบ้านมาก็มืดค่ำทุกวัน กลับมาถึงบ้านก็อาบน้ำนอน  เช้าก็แต่งตัวไปทำงานอีก พอตกค่ำก็กลับมานอน  อย่างเดียว  พื้นที่ชีวิตของคนชนิดนี้ก็คงน้อยกว่าคนที่ชอบทำกับข้าวกินที่บ้าน คนที่ชอบกลับบ้านมาปลูกต้นไม้ตอนเย็นๆหรือตอนวันหยุด      คนที่มักจะพาสุนัขออกไปเดินเล่นที่สวนหลังบ้านทุกเช้าทุกเย็น   หรือคนที่เล่นกับลูกหลานที่สวนหลังบ้านทุกวัน    
      บ้านสำหรับความเห็นส่วนตัว(เฉพาะ)ของผมจึงมีความหมายถึงที่ที่เรามีพึ้รที่ชีวิตส่วนตัวตามบุคคลิกความชอบของแต่ละคน   แต่ละครอบครัว    โดยอาศัยแค่ตัวบ้านและองค์ประกอบต่างๆของบ้านเป็นเพียงแค่อุปกรณ์อำนวยความสะดวก หรือ EXCUTIONให้เราได้เกาะเกี่ยวไปเท่านั้น     ไม่ใช่สาระสำคัญที่สุดของชีวิตและความสัมพันธ์ของคนในบ้าน    เพราะแม้เฟอร์นิเจอร์จะถูกขนออกไป    ผ้าปูที่นอนจะเก่าจนขาด    ครัวจะเลอะเทอะลงไปบ้าง   แต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับชีวิตที่อาศัยอยู่ยังมีความสุข  ความสัมพันธ์ยังงดงามทุกชีวิตในบ้านเข้าใจกัน   และร่วมรับรู้หนาวร้อนทุกข์สุขของกันและกัน
       สำหรับผม...บ้านที่งดงามไม่จำเป็นต้องราคา สามสิบล้าน  ต้องเป็นคฤหาสน์หรูสิบห้องนอน หกห้องน้ำ  บนเน้ือที่ห้าไร่    แต่บ้านที่งดงามคือบ้านที่เจ้าของได้ใช้พื้นที่ชีวิตในบ้านได้เต็มศักยภาพของมัน    คือที่เดียวที่ปลอด ภัยที่สุดในโลกใบนี้ยามเมื่อภัยมาและหัวใจกำลังอาจเต็มไปด้วยความทุกข์     คือที่ที่เราจะนึกถึงเป็นที่แรกไม่ว่าเรากำลังมีความสุขที่สุดหรือกำลังทุกข์แทบหัวใจแหลกสลาย   คือเบาะที่จะรองรับเราได้เสมอไม่ว่าเราจะต้องถูกมนุาย์คนไหนในโลกใบนี้ถีบเราตกลงมาจากที่สูงไม่ว่ามากน้อยแค่ไหน    และคือที่หลบภัยกลับมาเลียแผลเมื่อออกไปโดนสัตว์ร้ายชบกัดมาจากโลกภายนอก
       ถ้าเราสามารถทำให้บ้านของเราทำหน้าที่ของมันได้เต็มกำลังไม่ว่าบ้านหลังนั้น จะเล็กเท่ารูหนู  หรือจะใหญ่โตมโหฬารดังวัง บ้านก็จะมีความหมายเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องเอาขนาดหรือวัตถุมาวัดค่าใดๆทั้งสิ้น   เราควรกลับมาเห็นค่าความสำคัญของคำว่าบ้านกันได้หรือยังล่ะครับ
            

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เหรียญพัดยศ

เหรียญพัดยศ
           ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง  มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย ทุกขณะเป็นธรรม  ทุกขณะมีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา ทั้งจิต(สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์)  เจตสิก(สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต)  และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร   ไม่ใช่สภาพรู้)   เป็นสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง ๆ  ไม่ปะปนกันทางที่จะให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์  มี  ๖ ทาง คือ  ทางตา ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้นทางกาย   และทางใจ  เมื่อจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ทางตา   ทางหู    ทางจมูก    ทางลิ้น  ทางกายแล้ว   ก็มีการคิดนึกต่อทางใจ  หรือในบางครั้งบางขณะ แม้ไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน เป็นต้น  ก็คิดนึกได้   นี้คือความเป็นจริงของสภาพธรรม  ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ใคร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้  และ จิตบางประเภทก็เกิดขึ้นโดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลยก็มี  ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๓ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิต  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด    อาศัยทวารหรือไม่ได้อาศัยทวาร  ก็ตามเมื่อเกิดขึ้นก็จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ตามสมควรแก่ประเภทของจิต  และเจตสิกที่ต้องเกิดร่วมกันกับจิตทุกขณะ มี ๗ ประเภท  หนึ่งในนั้น คือ  ผัสสเจตสิก    ซึ่งเป็นเจตสิกที่กระทบกับอารมณ์ที่จิตรู้   ที่กล่าวมานั้น  ไม่ว่าจะได้เห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส  รู้สิ่งทีกระทบสัมผัสทางกาย และ คิดนึก ทางใจ ล้วนเป็นธรรม ทั้งสิ้น  ไม่มีตัวตนสัตว์บุคคลเลย 
     การที่คิดว่าว่าตนเองรู้อะไรล่วงหน้า  ก็ไม่พ้นไปจากความคิด  ซึ่งอาจจะถูกบ้าง ผิดบ้าง  ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอะไร  ต่อให้รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าอะไรจะเกิดขึ้น  คนนั้นคนนี้จะมีชีวิตเป็นไปอย่างไร  แต่ไม่มีปัญญาไม่ได้เข้าใจธรรม แม้แต่ในขณะที่คิดก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ได้รู้สภาพธรรมใด ๆ ตามความเป็นจริงเลย  ย่อมไม่สามารถที่จะพ้นไปจากทุกข์ได้    ก็ยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ ความสำคัญตน และอกุศลธรรมประการต่าง ๆ ดังนั้น  กิจที่ควรทำอย่างยิ่ง    ก็คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏตามความเป็นจริง  สิ่งที่ควรรู้  ก็คือ ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ครับ   

รับรู้อารมณ์

สติ
                 ทางที่เป็นทางให้รับรู้อารมณ์ มี 6 ทาง คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ  ทางตา(จักขุปสาทรูป) เป็นทางให้มีการเห็น   หู (โสตปสาทรูป)เป็นทางให้มีการได้ยิน จมูก(ฆานปสาทรูป) เป็นทางให้ได้กลิ่น ลิ้น(ชิวหาปสาทรูป)เป็นทางให้รู้รส   ทางกาย(กายปสาทรูป)   เป็นทางให้รู้กระทบสัมผัส เย็น ร้อน  เป็นต้นประสาทสัมผัส จึงมี 5 ประการตามที่กล่าวมา  ส่วนทางใจ ที่เป็นทางที่หก คือ   รู้สภาพธรรมทุกอย่าง ทั้ง สิ่งที่เห็น เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส และเรื่องราว ความคิดนึกก็รู้ได้ทางใจครับ   ดังนั้น ประสาทสัมผัสทั้งหกตามที่เข้าใจกันทางโลก     ตามที่ผู้ถามถามมานั้น ในความเป็นจริง ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูป   ซึ่งก็คืออาศัยจิตรู้สิ่งต่างๆ    ซึ่งประสาทสัมผัสที่หก   ทางโลก  คือ รู้เหตุการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าเป็นต้น   ซึ่งในความเป็นจริงในทางธรรม ก็คือ อาศัยทางใจ ทำให้มีการคิดนึก ตรึกไปเป็นเรื่องราวที่คิดนึก ถึงสิ่งบางสิ่ง ซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรง แต่ที่สำคัญก็เป็นเพียงการคิดนึกเท่านั้นครับ   ซึ่งบุคคลที่สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า ถูกบ้างก็อาจเป็นเพราะเทวดาดลใจประการหนึ่ง หรือ เคยเป็นผู้อบรมฌาน สมถภาวนามาในอดีตชาติก็สามารถระลึกถึงเหตุการณ์ล่วงหน้าได้บ้าง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไปครับ       ส่วนการจะรู้จักนิสัยของบุคคลใด   ก็ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ และใส่ใจถึงจะรู้ นอกเสียจากผู้มีปัญญาดังเช่นพระโพธิสัตว์ ย่อมรู้ลักษณะของบุคคลว่าคนนั้นเป็นอย่างไรครับ     สำหรับผู้ที่มีประสาทสัมผัสที่หกที่แท้จริง คือ ผู้ที่อบรมปัญญา ได้ฌานในขณะนั้น ก็สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆได้อย่างถูกต้องด้วยกำลังของปัญญา ระดับฌานครับ  ซึ่งก็ต้องอบรมเหตุให้ถูกต้อง ประสาทสัมผัสที่หก ก็จึงไม่พ้นจาก ทางใจที่เป็น จิต เจตสิกทีเกิดขึ้น ประสาทสัมผัสที่หก   แต่การมีประสาทสัมผัสที่หก ที่ล่วงรู้เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ประเสริฐ เพราะไม่เป็นไปเพื่อละทุกข์ สละ ละคลายกิเลสเลยครับ    แต่ประสาทสัมผัสที่หกที่ประเสริฐ คือ การคิดนึกที่ประเสริฐ คือ   ปัญญา   ความเห็นถูกที่เกิดพร้อมกับจิตที่เข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าไม่ใช่เรา      นี่เป็นประสาทสัมผัสด้วยปัญญา และเป็นไปเพื่อดับทุกข์แท้จริง ละกิเลสประการต่างๆ เพราะความเจริญขึ้นของปัญญาครับ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดครับ ขออนุโมทนา

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ทำงานตั้งนานเงินผ่อนจักรยานยังไม่มีซะที

จักรยาน
          นวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นเพิ่มความสะดวกสบาย และเกิดความนิยมใช้จักรยาน ในปี 1890 ถือเป็นยุคทองของจักรยาน ในปี 1888, John Boyd Dunlop ชาวสก็อต ได้เสนอการใช้ล้อที่มียางและมีลมข้างในขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้ใช้กันอย่างกว้างขวาง ในช่วงเวลาต่อมา ฟรีล้อหลัง ได้ถูกนำมาใช้ ซึ่งทำให้ผู้ขับขี่ใช้งานง่ายขึ้น การประ ดิษฐ์นี้ ทำให้เกิด เบรกแบบโคสเตอร์ คือการหมุนบันไดกลับหลังเพื่อเบรก ในปี 1890s  ตัวสับเกียร์ และตัวบังคับที่แฮนด์ สายเคเบิลแบบมีปลอก ใช้เพื่อดึงเบรก ได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงนั้นเช่นกัน แต่ยังคงไม่ได้นำมาใช้กับรถจักร ยานทั่ว ๆ ไป ในช่วงทศวรรตนั้น กลุ่มนักปั่นจักรยาน มีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งสองฝั่งของทะเล แอทแลนติก ทั้งการใช้งานในรูปแบบ ปั่นเพื่อ ท่องเที่ยวและ ปั่นเพื่อการแข่งขัน
        ซึ่งต่อมาได้รับความนิยม และขยายวงขึ้นอย่างกว้างขวางจักรยาน สามารถแบ่งประเภทหมวดหมู่ได้หลายแบบมาก โดยการใช้งาน โดยจำนวนของผู้ขี่ โดยโครงสร้าง โดยเกียร์หรือวิธีการขับเคลื่อน โดยชนิดของจักรยานที่พบได้ทั่ว ๆ ไปเช่น จักรยานใช้งานทั่วไป, จักรยานเสือภูเขา, จักรยานแข่งขัน, จักรยานท่องเที่ยว, จักรยานกึ่งเสือภูเขากึ่งทางเรียบ(hybrid)จักรยานครุยเซอร์ (cruiser) , และ จักรยานBMX จักรยานที่พบเห็นได้น้อย จักรยานนั่งสองตอน (tandems), จักรยานทรงต่ำ (lowriders), จักรยานทรงสูง(tall bikes), จักรยานฟิกซ์เกียร์, จักรยานพับ, จักรยานสะเทินน้ำสะเทินบก และ จักรยานนอนปั่น ที่มีความหลากหลายให้เลือกใช้งานตามความพึงพอใจ
       โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบปั่นจักรยานมาตั้งแต่เด็กๆ พอโตขึ้นก็ฝันว่าจะปั่นจักรยานไปโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้ดั่งที่เราคิดและฝันเอาไว้ ด้วยต้นทุนชีวิตคนเรานั้นไม่เหมือนกัน ทำงานได้ก็คิดว่าจะต้องซื้อจักรยานให้ได้สักคัน ตามที่เราได้ตั้งปณิธานเอาไว้ แต่ด้วยต้นทุนชีวิตของคนเราที่แตกต่างกัน ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ค่าอื่นอีกมากมาย ซึ่งเหมือนกับว่า การที่เราทำงานมาตั้งนาน เงินจะผ่อนจักรยานยังไม่มีเลย
 
 ปราโมทย์ โชติช่วง ณ ราชบุรี